LoRaWAN ถือเป็นที่เทคโนโลยีสำหรับการส่งสัญญาณระยะไกลและใช้พลังงานต่ำทางเลือกหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีด้าน LPWAN ซึ่งเริ่มมีมาตรฐานเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ 10 ปีก่อนเท่านั้นในปี 2015 โดย LoRa Alliance มาถึงในปัจจุบันทิศทางของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ในบทความนี้อ้างอิงจากผู้ให้กำเนิดเทคโนโลยีดั้งเดิมของ LoRaWAN อย่าง Semtech และรายงานจาก LoRa Alliance โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ทิศทางของ LoRaWAN
LPWAN เป็นชื่อเรียกรวมของกลุ่มเทคโนโลยีที่เน้นการส่งสัญญาณระยะไกลและใช้พลังงานต่ำ ซึ่ง LoRaWAN เป็นทางเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีนี้ โดยจากการเปิดเผยของบริษัทวิเคราะห์ Omdia ชี้ว่าตัวเทคโนโลยี LoRaWAN คือเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ LPWAN มีการเชื่อมต่อถึง 3.5 พันล้านได้ในปี 2030 และถ้าหากนับแค่สถิติจากกลางปี 2024 อุปกรณ์ปลายทางในระบบ LoRaWAN มีจำนวนถึง 350 ล้านตัวแล้ว พร้อมมีอุปกรณ์เกตเวย์กว่า 6.9 ล้านตัวรองรับในงานควบคุมทางอุตสาหกรรม (ICS : Industrial Control System) ข้อมูลที่คล้ายกันจาก LoRa Alliance ที่ชี้ถึงการเติมโตของผู้ใช้ LoRa เผยว่ามีการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านหรือโตขึ้นกว่าปีก่อนถึง 50% รวมถึงในแง่มุมของภาคอุตสาหกรรม
LoRaWAN ไม่ได้จำกัดแค่การใช้งานภาคพื้นดินแต่ยังมีการให้บริการเชิงพาณิชย์โดยผู้เล่น 3 รายหรือล้ำหน้ากว่าเทคโนโลยีทางเลือกอื่น ในมุมมองของการใช้งานที่ไม่ได้อยู่บนภาคพื้นดิน (non-terrestrial network : NTN) นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาจากบริษัทองค์กรอีกมากที่ประยุกต์ใช้ LoRaWAN เช่น Starbucks, Volvo, Chevron, Chick-fil-A, Logitech และอื่นๆ รวมถึงกลุ่มเมือง อาคาร และการขนส่งอัจฉริยะต่างๆ
อย่างไรก็ดี LoRaWAN Alliance ยังคงทำงานเพื่อสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานของ LoRaWAN อย่างต่อเนื่องในประเด็นของ
- การเพิ่มความสามารถให้มีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การใช้ PKI เพื่อทำการ Provision อุปกรณ์, การ Onboard อุปกรณ์แบบ plug&play, การค้นหาเครือข่ายด้วยพลังงานต่ำ ความจุด้านเครือข่าย รวมถึงทำงานร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อสนับสนุนย่านสัญญาณความถี่สำหรับ LoRaWAN
- ในด้านการสนับสนุนการใช้งานได้มีการส่งเสริมโปรแกรมขั้นตอนการออกรับรองอุปกรณ์ให้ง่ายขึ้นผ่านหน้าเว็บ หรือการมีเครื่องมือทดสอบ และการรับรองด้วยตนเอง
- ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของตัวซอฟต์แวร์ในทุกองค์ประกอบ เช่น เกตเวย์ เซิร์ฟเวอร์ พารามิเตอร์การใช้งาน และแง่มุมด้านเทคนิค
อะไรจะเกิดขึ้นได้อีกบ้างกับ LoRaWAN
Semtech ผู้เป็นเจ้าของจากการเข้าซื้อกิจการผู้คิดค้น LoRa และยังเป็นแกนนำในการก่อตั้ง Alliance ได้แนะนำทิศทางของอุตสาหกรรม LoRaWAN สำหรับปี 2025 ไว้ 9 หัวข้อดังนี้
1.) การทำงานร่วมกับเครือข่าย 5G
แม้ว่า 5G อาจจะถูกหยิบยกมาเป็นเหมือนคู่แข่งในตลาดสัญญาณไร้สายแต่อันที่จริงแล้ว 5G และ LoRaWAN คือส่วนเติมเต็มที่ลงตัวเพราะโฟกัสแอปพลิเคชันต่างกัน โดยหากมองหาความรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง 5G คือทางเลือกที่เหมาะสม แต่ในกรณีของอุปกรณ์ IoT LoRaWAN ตอบโจทย์ได้ดีกว่า อีกทั้งจากการคาดการณ์ในปี 2026 เทคโนโลยี LoRaWAN จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักใน LPWAN
2.) พัฒนาการของอุปกรณ์และเทคโนโลยี
อุปกรณ์และเซ็นเซอร์ที่รองรับ LoRaWAN มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยมีการพัฒนาทั้งในแง่ของขนาด การใช้ไฟที่มีประสิทธิภาพ และฟังก์ชันที่ดีขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นยังสามารถทำงานกับระบบดาวเทียมได้อย่างไร้รอยต่อเพิ่มขึ้นความสามารถของการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยในพื้นที่ห่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ LoRaWAN non-terrestrial networks (NTN) ที่ช่วยในแอปพลิเคชันได้มากมาย เช่น การติดตามทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่ง ทำให้เกิดความครอบคลุมระดับภูมิภาค
3.) การใช้งานใหม่ๆในภาคอุตสาหกรรม
LoRaWAN ยังสามารถถูกนำไปใช้ในกรณีศึกษาอีกมากมาย เช่น ระบบติดตามทรัพยากร สินทรัพย์ Grid ของโครงข่ายไฟฟ้า เครือข่ายการกระจายน้ำ ตรวจสอบแก๊ซรั่ว ที่ส่งเสริมความปลอดภัยและผลกระทบในสภาพแวดล้อม
4.) โปรโตคอลที่มั่นคงปลอดภัย
ความมั่นคงปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่ของโลกไอทีในปัจจุบัน ในมุมของ LoRaWAN เองกำลังมีการเพิ่มความสนใจให้โปรโตคอลเพื่อตอบสนองกับภัย เช่น การรองรับการเข้ารหัสที่ดีขึ้น การตรวจจับภัยอย่างทันท่วงที หรือการอัปเดตเฟิร์มแวร์อย่างปลอดภัย
5.) การเติบโตขึ้นของ Ecosystem
จากแนวโน้มการเติบโตของ LoRaWAN เชื่อแน่ว่าในปี 2025 ก็ยังมีผู้สนใจเข้ามาพัฒนาวงการ LoRaWAN ไม่ว่าจะเป็น SI หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งตอนนี้ก็มีแพลตฟอร์มพร้อมใช้หรืออุปกรณ์แบบ Plug & Play เกิดขึ้น
6.) การกำกับดูแลและมาตรฐานที่ยกระดับ
Alliance มีทีมงานที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลระเบียบต่าง ซึ่งสามารถทำให้การใช้งานสอดคล้องกับแนวทางระดับสากล รวมถึงแนะนำความสามารถล่าสุดและช่วยให้ผู้สนใจสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจบนมาตรฐานระดับสากล
7.) ยกระดับระบบวิเคราะห์ข้อมูลและช่วยในการตัดสินใจ
ระบบ AI /ML ย่อมต้องการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ โดยข้อมูลจาก IoT จะช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถยกระดับจากการป้องกันเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ และตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ นั่นคืออีกทิศทางที่ LoRaWAN ช่วยนำส่งข้อมูลจาก IoT
8.) ประสิทธิภาพด้านพลังงานและความยั่งยืน
แน่นอนว่าประเด็นด้านเรื่องการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นสิ่งที่ธุรกิจให้ความสนใจ ในส่วนนี้กรณีการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ผ่าน LoRaWAN ในกลุ่มสาธารณูโภคเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น การกระจายน้ำ เพิ่มประสิทธิในการใช้พลังงานไฟฟ้า หรืออื่นๆ
9.) เครือข่ายจะเติบโตขึ้นในระดับสากล
ในปี 2025 คาดว่าเครือข่ายของ LoRaWAN จะขยายตัวได้จากความร่วมมือกับจากผู้ให้บริการ องค์กร และรัฐบาลต่างๆ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาสำคัญได้ตั้งแต่ส่วนชนบท เช่น ติดตามการจัดการน้ำในประเทศที่แห้งแล้ง หรือ แม้กระทั่งในเมืองใช้ที่ช่วยจัดสรรการจราจร เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า LoRaWAN เป็นเทคโนโลยีไร้สายทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีผู้เข้าร่วมมาขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางนวัตกรรมและการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรม หรือแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลายเติมเต็มมุมมองของ 5G ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ของอุปกรณ์ IoT ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : https://www.rcrwireless.com/20241216/fundamentals/lorawan-semtech-2025 และ https://iotbusinessnews.com/2025/02/12/32030-lora-alliance-releases-2024-annual-report-key-trends-in-lorawan-adoption/