LONGi ทำสถิติโลกใหม่ ประสิทธิภาพ 30.1% สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ในทางการค้าขนาด M6 ชนิดซิลิกอน-เพอรอฟสไกต์ทาบติดกัน

LONGi (ลอนจี) บริษัทเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำของโลก ประกาศสถิติโลกใหม่อย่างเป็นทางการ สำหรับประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานได้ถึง 30.1% ของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิกอน-เพอรอฟสไกต์ทาบติดกัน (silicon-perovskite tandem solar cell) ในระดับเวเฟอร์ทางการค้าขนาด M6 โดยได้รับการรับรองจากสถาบันอิสระที่เชื่อถือได้ คือ Fraunhofer Institute for Solar Energy (Fraunhofer ISE) ในงาน Intersolar Europe 2024 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

การประกาศสถิติโลกล่าสุดนี้มีขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ LONGi ประกาศสถิติโลกใหม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์แบบทาบติดกัน 34.6% ในงาน SNEC EXPO 2024 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และยังทำลายสถิติโลกก่อนหน้านี้ที่ทำไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์แบบทาบติดกันในระดับเวเฟอร์ทางการค้าขนาด M4 ที่มีประสิทธิภาพ 28.6% นั่นก็คือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ล่าสุดชนิดนี้มีค่าประสิทธิภาพสัมบูรณ์เพิ่มขึ้น 1.5%

สถิติโลกใหม่ที่ LONGi ทำได้นั้น ไม่เพียงแสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการผลักดันขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพของต้นแบบเซลล์ชนิดซิลิกอน-เพอรอฟสไกต์ทาบติดกัน แต่ยังบอกถึงการอยู่รอดในทางการค้าต่อไปของเทคโนโลยีนี้

Dr. He Bo ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา Central R&D Institute ของ LONGi กล่าวว่า — “ท่ามกลางการค้นคว้าให้ถึงขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์แบบทาบติดกัน ทีม R&D ของ LONGi เริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตจำนวนมากสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 และในเวลาเพียงหกเดือน ก็สามารถเอาชนะความท้าทายด้วยปัจจัยหลักสองประการ นั่นคือ การจัดเตรียมฟิล์มเพอรอฟสไกต์ที่มีพื้นผิวขนาดใหญ่ในอากาศ และการชุบโลหะด้วยอุณหภูมิต่ำพิเศษ”

จากการรวบรวมประสบการณ์ต่างๆ ในการวิจัยอุปกรณ์ต้นแบบ ทำให้ทีม R&D ของ LONGi ประสบความสำเร็จในการผลิตไฟฟ้าจากแสงที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 30% ได้เป็นครั้งแรกสำหรับอุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิกอน-เพอรอฟสไกต์ทาบติดกันในขนาดเวเฟอร์ที่ใช้ในทางการค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบด้านประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญเหนือกว่าสถิติประสิทธิภาพที่ LONGi เคยทำไว้เมื่อเร็วๆ นี้ที่ 27.3% ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความคาดหวังของอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกอย่างมากสำหรับเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้

ในทางทฤษฎี เซลล์แสงอาทิตย์แบบโมโนคริสตัลไลน์ชนิดซิลิกอน-เพอรอฟสไกต์ทาบติดกัน มีขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพอยู่ที่ 43% จึงทำให้เซลล์ชนิดนี้ยังคงเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงพิเศษสำหรับยุคถัดไป แม้ในภายหลังจะมีเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์เกิดขึ้นใหม่ก็ตาม นั่นคือ เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์ชนิดซิลิกอนต่อสัมผัสด้านหลัง (monocrystalline silicon back-contact cells) ซึ่งมีการทำวิจัยกันอย่างแข็งขันจากอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลก

การสร้างสถิติโลกแบบสองแชมป์ ไม่เพียงแต่สร้างนิยามใหม่ให้กับขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์แบบทาบติดกัน แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้ ทำให้ LONGi ยังคงเป็นผู้นำตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งสองชนิด ทั้งเซลล์แสงอาทิตย์แบบโมโนคริสตัลไลน์ชนิดซิลิกอนจุดต่อเดี่ยว (monocrystalline silicon single-junction) และเซลล์แสงอาทิตย์แบบทาบติดกัน

LONGi ให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยมุ่งพัฒนาตามแนวคิด “การคิดค้นนวัตกรรมและใช้แสงแดดให้เกิดประโยชน์” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการค้นความให้ถึงขีดจำกัดด้านประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นใหม่ และการอัปเกรดผลิตภัณฑ์พลังงานสีเขียวอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าได้สูงสุด

นับตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทในปี 2555 จนถึงสิ้นปี 2566 LONGi ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านหยวน (ประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท) และจดสิทธิบัตรไปแล้ว 2,879 รายการ

ที่มา: LONGi Green Energy Technology

About pawarit

Check Also

Banpu NEXT จับมือ SolarBK ผุดโครงการโซลาร์รูฟท็อป 390 เมกะวัตต์ในเวียดนาม

บริษัท บีพีเอ็น เน็กซ์ (Banpu NEXT) บริษัทในเครือของบ้านปู ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของไทย ร่วมมือกับบริษัท โซลาร์บีเค (SolarBK) ผู้นำด้านพลังงานสะอาดของเวียดนาม ประกาศแผนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ขนาดกำลังการผลิตรวมอย่างน้อย 390 …

ABB ลงทุนในบริษัท “Molg” หวังปฏิวัติการผลิตสู่ระบบหมุนเวียน

บริษัท ABB Motion ผ่านแผนกผลิตภัณฑ์ไดรฟ์ (Drive Products) ได้ลงทุนในบริษัท “Molg” ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบบหมุนเวียนในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ผ่านกองทุน ABB Motion Ventures โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการออกแบบและความสามารถในการนำไดรฟ์ของ …