Mercedes-Benz เปิดโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่แห่งแรกในยุโรป โดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการทางกล-โลหวิทยาการละลาย (mechanical-hydrometallurgical) ทำให้ Mercedes-Benz เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของโลกที่ปิดวงรอบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วยโรงงานภายในของบริษัทเอง

โรงงานรีไซเคิลที่เมือง Kuppenheim ทางตอนใต้ของเยอรมนีแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง เป็นการเสริมรากฐานให้กับจิตวิญญาณการบุกเบิกและจุดแข็งด้านนวัตกรรมของ Mercedes-Benz ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการใช้ทรัพยากรตั้งต้นอันมีค่าให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ โรงงานรีไซเคิลดังกล่าวยังต่างไปจากกระบวนการอื่นๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ใช้กระบวนการทางกล-โลหวิทยาการละลาย ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกู้คืนได้มากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ สามารถกู้คืนวัตถุดิบที่มีค่าและหายากได้ อย่างเช่น ลิเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ จึงเหมาะกับการใช้งานในแบตเตอรี่ใหม่สำหรับรถยนต์แบบไฟฟ้าล้วนของ Mercedes-Benz ในอนาคต
พันธมิตรของ Mercedes-Benz ในด้านเทคโนโลยีโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ คือ Primobius เป็นการร่วมทุนระหว่าง SMS group ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมเครื่องกลและโรงงานชาวเยอรมัน และ Neometals บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการของชาวออสเตรเลีย โรงงานแห่งนี้ได้รับเงินทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของรัฐบาลกลางเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี 3 แห่ง โครงการนี้มุ่งไปที่ห่วงโซ่กระบวนการทั้งหมดของการรีไซเคิล รวมถึงแนวคิดด้านโลจิสติกส์และการบูรณาการใหม่ ดังนั้น พันธมิตรจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ในเยอรมนีเติบโตได้ในอนาคต
การรีไซเคิลแบบบูรณาการทางกล-โลหวิทยาการละลาย
โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ของ Mercedes-Benz เป็นโรงงานแห่งแรกในยุโรปที่ดำเนินการครอบคลุมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดแยกมอดูลแบตเตอรี่ ไปจนถึงการทำให้แห้ง และดำเนินการกับวัสดุทำปฏิกิริยาแบตเตอรี่ โดยกระบวนการทางกลจะคัดและแยกวัสดุตางๆ ทั้งพลาสติก ทองแดง อะลูมิเนียม และเหล็ก ด้วยความซับซ้อนและหลายขั้นตอน
ในขั้นตอนท้ายๆ ของกระบวนการโลหวิทยาการละลาย จะมุ่งไปที่วัสดุมวลดำ ซึ่งเป็นวัสดุทำปฏิกิริยาที่นำมาประกอบเป็นอิเล็กโทรดของเซลล์แบตเตอรี่ ส่วนโลหะมีค่า เช่น โคบอลต์ นิกเกิล และลิเธียม จะถูกสกัดแยกแต่ละส่วนออกมาด้วยกระบวนการทางเคมีหลายขั้นตอน ซึ่งวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้มีคุณภาพเทียบเท่าวัสดุของแบตเตอรี่ จึงเหมาะสำหรับใช้ในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ใหม่
กระบวนการโลหวิทยาการละลายนั้นใช้พลังงานและมีของเสียจากวัสดุน้อยกว่ากระบวนการโลหวิทยาความร้อนสูง (pyrometallurgy) ที่ใช้กันในยุโรปในปัจจุบัน ซึ่งอุณหภูมิของกระบวนการที่ต่ำถึง 80 องศาเซลเซียส จึงทำให้ใช้พลังงานน้อยกว่า โรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ยังเป็นเช่นเดียวกับโรงงานผลิตของ Mercedes-Benz ทั้งหมดที่ได้ดำเนินการด้วยรูปแบบเป็นกลางทางคาร์บอนสุทธิ (ตามความรู้ในปัจจุบัน) โดยใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว 100 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่หลังคาของอาคารขนาด 6,800 ตารางเมตร มีการติดตั้งระบบกำเนิดไฟฟ้าด้วยแสง (photovoltaic) ที่มีเอาต์พุตสูงสุดมากกว่า 350 กิโลวัตต์
โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ของ Mercedes-Benz ในเมือง Kuppenheim มีกำลังการผลิต 2,500 ตันต่อปี วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลจะนำไปใช้ในการผลิตมอดูลแบตเตอรี่มากกว่า 50,000 ชุดสำหรับรถยนต์แบบไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ของ Mercedes-Benz ซึ่งความรู้ที่ได้รับจะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไป
แนวทางแบบองค์รวมเพื่อสร้างมูลค่าแบตเตอรี่
Mercedes-Benz ใช้แนวทางแบบองค์รวมเพื่อการหมุนเวียนระบบแบตเตอรี่ และมีประเด็นการพิจารณาในสามหัวข้อหลัก คือ การออกแบบระบบหมุนเวียน การรักษามูลค่า และการปิดวงรอบวัสดุ ด้วยแนวทางการออกแบบเพื่อการหมุนเวียนดังกล่าว และได้พิจารณาถึงห่วงโซ่คุณค่าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ทั้งหมดตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดย Mercedes-Benz eCampus ในเมือง Stuttgart-Untertürkheim ได้เปิดดำเนินการในปี ค.ศ. 2024 พร้อมกับนำความคิดแบบหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่ใหม่ ทั้งนี้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ Mercedes-Benz นั้นมีความเป็นกลางทางคาร์บอนสุทธิจากโรงงานแบตเตอรี่ทั้งหมดในสามทวีป ซึ่งการผลิตแบตเตอรี่ภายในท้องถิ่นนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จตามกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนของ Mercedes-Benz
เพื่อความสอดคล้องกับแนวคิดแบบหมุนเวียนและการอนุรักษ์ทรัพยากร บริษัทจึงเสนอแบตเตอรี่ที่ได้รับการปรับสภาพใหม่เพื่อนำมาเป็นชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น นอกจากนี้ บริษัทในเครือ Mercedes-Benz Energy ได้สร้างโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้ระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่แบบประจำที่ ดังนั้น หากแบตเตอรี่ใดไม่เหมาะกับการใช้งานในรถยนต์อีกต่อไปแล้ว ก็ยังสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ด้วยการนำไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบกักเก็บพลังงาน
Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า — “อนาคตของรถยนต์ คือ ไฟฟ้า และมีแบตเตอรี่เป็นองค์ประกอบสำคัญ การผลิตแบตเตอรี่ด้วยแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างความยั่งยืน การรีไซเคิลจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ในขณะเดียวกันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของเรา” “ขอแสดงความยินดีกับ Mercedes-Benz สำหรับความกล้าหาญและมองการณ์ไกล ดังที่เห็นได้จากการลงทุนใน Kuppenheim ซึ่งประเทศเยอรมนียังคงเป็นตลาดที่ล้ำสมัยสำหรับเทคโนโลยีใหม่และเป็นนวัตกรรม”
Ola Källenius ประธานคณะกรรมการบริหารของ Mercedes-Benz Group AG กล่าวว่า — “Mercedes-Benz ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรถยนต์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดด้วยแนวทางที่ยั่งยืน ในฐานะผู้บุกเบิกด้านวิศวกรรมยานยนต์ โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ด้วยกระบวนการทางกล-โลหวิทยาการละลายแห่งแรกของยุโรป ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความยั่งยืนของวัตถุดิบ การร่วมกับพันธมิตรของเราจากภาคอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความแรงของความแข็งแกร่งในด้านนวัตกรรมสำหรับการเคลื่อนที่แบบไฟฟ้าที่ยั่งยืน และการสร้างมูลค่าในเยอรมนีและยุโรป”
ที่มา: Mercedes‑Benz AG