สัญญาณนี้บอกอะไรเรา โรงงานในไทยปิดตัวลงไปแล้ว 1,700 แห่ง เฉลี่ย 159 โรงงานต่อเดือน กระทบแรงงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

KKP Research เผยข้อมูลการวิเคราะห์ “โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวลงบอกอะไรเรา” สถิติตัวเลขที่ปรากฏเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 ค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2021 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2022 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 และหากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 ถึงไตรมาสแรกของปี 2024 ประเทศไทยมีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง ส่งผลกระทบแรงงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

แม้ว่ายอดเปิดโรงงานจะยังเยอะกว่ายอดปิดโรงงานในภาพรวม แต่สถานการณ์มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคการผลิตโดยกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของการปิดตัวโรงงานมากที่สุด

KKP Research เผยภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่อ่อนแอซึ่งสะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปียอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว

สถานการณ์ในอนาคตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของสินค้าบางชนิด
  2. การแข่งขันที่มากขึ้นจากสินค้าจีน
  3. มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น

ดัชนีการผลิตติดลบติดต่อกันกว่า 1 ปี

KKP Research เผยข้อมูลการวิเคราะห์เกี่ยวกับดัชนีการผลิตติดลบติดต่อกันกว่า 1 ปี ระบุว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทย คือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย เผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 จนถึงเดือนมีนาคม 2024 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน ซึ่งนับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2023 แล้วก็ตาม

ไม่ใช่แค่โรงงานปิด แต่โรงงานเปิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน

KKP Research เผยข้อมูลการวิเคราะห์เกี่ยวกับการปิดตัวของโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ที่ลดลงกว่าในอดีตยังย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่ดีนักเพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นกัน จึงทำให้ยอดการเปิดโรงงานสุทธิ (จำนวนโรงงานเปิดหักลบด้วย โรงงานปิด) ในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างมากจากค่าเฉลี่ยที่เป็นบวกสุทธิประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน

โรงงานขนาดใหญ่ปิดตัว โรงงานขนาดเล็กเปิดแทน

KKP Research เผยข้อมูลการวิเคราะห์ในมิติของขนาดและพื้นที่ของโรงงานการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก สะท้อนว่าปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการเอง เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะเปราะบางกว่าโรงงานขนาดใหญ่ จากสถานะทางการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอกว่าบริษัทใหญ่ การปิดตัวที่เกิดขึ้นจากโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลักเป็นภาพสะท้อนว่า ปัญหาการปิดตัวโรงงานเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

หนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมกำลังเพิ่มขึ้น

KKP Research เผยข้อมูลการวิเคราะห์ เผยให้เห็นหนี้เสียในภาคอุตสาหกรรมกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิตที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ KKP Research พบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย

จากรายงานการวิเคราะห์ของ KKP Research ทำให้เราเห็นสัญญาณของผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นและเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์โดยเริ่มมีค่ายรถยนต์อย่าง Suzuki ยุติการผลิตในประเทศไทย ตามยอดขายที่ลดต่ำลงเหมือนกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ในช่วงหลังจากนี้ KKP Research ประเมินว่าการเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป มิเช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อย ๆ

สามารถอ่านข้อมูลการวิเคราะห์ฉบับเต็มของ KKP Research ได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/kkp-research/what-does-factory-closed-means-to-economy

ที่มา : KKP Research

About pawarit

Check Also

ซีเมนส์ ทุ่ม 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปิดโรงงานอุปกรณ์ไฟฟ้าสุดล้ำในเท็กซัส รับยุค AI บูม!

“ซีเมนส์” ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ได้ฤกษ์เปิดตัวโรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแห่งใหม่ที่เมืองฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะของซีเมนส์ และถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากตลาดศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการเติบโตของเทคโนโลยี AI ในอเมริกา

ไทยเนื้อหอม! บริษัทจีน “ซันโวดา” ทุ่มพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถ EV สร้างงาน 1,000 ตำแหน่ง

ประเทศไทยเนื้อหอมสุด ๆ! เมื่อบริษัท “ซันโวดา” (Sunwoda) ยักษ์ใหญ่ด้านแบตเตอรี่จากจีน ตัดสินใจลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย